เรียนรู้ การวางแผนการเดินทาง
Posted on May 10, 2014 13:39


หลายคนคงมีในใจหรือใน bucket list แล้วว่าอยากไปที่ไหนบ้าง ก่อนการตัดสินใจ 


align=

แต่สำหรับตัวเองนั้น แค่อยากเห็นโลกใบนี้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้เท่านั้น สิ่งที่มีในใจตอนนั้นมีเพียงเท่านี้ ประเทศที่เคยไปแล้วคงจะยังไม่ไปอีก (ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเดินทางต่างประเทศเนื่องจากการทำงานมาแล้วพอสมควร และมีไปเที่ยวบ้างเมื่อโอกาสอำนวย เช่นเดียวกับคนอื่นๆ) ให้ความสำคัญกับสถานที่ที่ไม่เคยไปมากกว่า 


ระหว่างวางแผนและหาข้อมูลก่อนการเดินทางนั้นมีทั้งความสนุก รอยยิ้มจากการนั่งฝัน และที่สำคัญความรู้มากมายเกี่ยวกับแต่ละประเทศ ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็ทวีป และก็โลกของเราทั้งใบนี่แหละ เรียนรู้ประวัติศาสตร์บ้าง ภูมิประเทศ ลักษณะทางธรณีวิทยา วัฒนธรรม และอีกมากมาย แต่ใช่ว่าจะมีแต่ความสนุก ความสุขเท่านั้น บางครั้งมีความสงสัย ไม่เข้าใจ และเคือง โดยเฉพาะเรื่องวีซ่า กฎเรื่องวีซ่าเป็นเรื่องที่เราคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ต้องทำตามกฎ คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจ นึกถึงวันที่เราจะไปลั้นลาดีกว่าเอาเวลามาขุ่นเคืองกับเรื่องเหล่านี้


ตอนที่นั่งเขียน Blog เกี่ยวกับการวางแผนนี้ ไม่แน่ใจว่าอะไรจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านมากกว่ากัน ระหว่างการวางแผนในแบบฉบับของตัวเอง หรือจะเขียนแบบ how-to  เอาเป็นว่าแบบผสมที่เป็นแบบเราและจะฝากข้อคิดสำหรับแบบที่แตกต่างไว้ให้


สำหรับตัวเองนั้นทำการวางแผนโดยคุยกับเพื่อนที่มีข้อมูลเกี่ยวกับประเทศต่างๆ อ่านหนังสือ หาข้อมูลบนเว็บไซต์ค่อนข้างเยอะ การอ่านเยอะก็ไม่ได้เป็นผลดีซะทีเดียว บางทีเยอะเกินไปทำให้ตัวเองงงว่า ตกลงเราต้องการอะไรเนี่ย ตั้งสติได้ก็บอกตัวเองว่า เอาให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้แล้ว อย่าสติแตก อยากไปมันซะทุกที่ ถ้าไม่ตายซะก่อน ก็ยังมีโอกาสกลับมาได้อีก


เอาละเริ่มลงมือวางแผนเลย

1.  สไตล์การเดินทางที่เหมาะกับเรา สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือแบบการเดินทางที่เหมาะกับตัวเรา

a. แบบใช้เงินน้อยที่สุด

i. ซื้อตั๋วเครื่องบินรอบโลกไว้ล่วงหน้านาน  รู้แน่นอนว่าจะเข้าออกแต่ละประเทศของแต่ละทวีปวันที่เท่าไหร่ (ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน เราเสียค่าบริการเพิ่ม) และระหว่างนั้นเดินทางในทวีปหรือพื้นที่นั้นโดยรถขนส่งมวลชนเท่านั้น

ii. พักที่หอพัก หรือ hostel เท่านั้น หรืออาจจะใช้บริการ couch surfing เป็นครั้งคราวหรือเป็นหลักเลยก็ได้

iii. กินอาหารโดยซื้อจาก supermarket เท่านั้น และเอาไปปรุงที่ hostelสำหรับกินเช้า กลางวัน เย็น ได้แบบประหยัดและได้คุณค่า ถ้าทำกับข้าวเก่งด้วยแล้วได้เปรียบ

iv. เข้าชมสถานที่ และทำกิจกรรมต่างๆ บางครั้งผ่านบริษัทนำเที่ยว แต่ส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยตัวเองเป็นหลัก แล้วแต่งบประมาณต่อวันที่เรากำหนดไว้ ไม่จำเป็นว่าต้องเท่านั้นเป๊ะทุกวัน แต่สามารถใช้จ่ายบางวันมากหน่อยและวันถัดๆ ไปก็ค่อยลดลงเพื่อให้อยู่ในงบที่เรากำหนดไว้ในที่สุด ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาอยู่ ก็จะเน้นเลือกที่มีส่วนลดนักเรียน นักศึกษา เป็นต้น

แบบนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีงบประมาณน้อย ไม่ต้องการเดินทางให้ได้จำนวนประเทศมากที่สุด หรือที่เราเรียกว่า slow movement ค่อยเป็นค่อยไป แบบนี้ข้อดี นอกจากใช้จ่ายน้อยแล้ว ได้มีเวลาสัมผัสถึงการใช้ชีวิตแบบติดดินสุดๆ แบบคนท้องถิ่นจริงๆ และได้มีเวลาอยู่ในแต่ละที่นานหน่อย และการพักตาม hostel ก็หาเพื่อนระหว่างทางไม่ยาก มีเพื่อนคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลการเดินทาง ได้การช่วยเหลือและอื่นๆ อีกมากมายใน hostelเพราะคนส่วนใหญ่ที่พักใน hostel มีวัตถุประสงค์คล้ายๆกัน ข้อเสียคือยืดหยุ่นน้อย แต่การยืนหยุ่นทำได้ด้วยการจ่ายค่าบริการเพิ่ม เช่นค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น และบางที่อาจจะไม่เหมาะกับผู้หญิงเดินทางคนเดียว ก็ต้องศึกษาหาข้อมูลให้ดี


b. แบบยืดหยุ่น เน้นเดินทางแบบให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนใจ การเปลี่ยนแปลง ให้ได้มากที่สุด

i. ซื้อตั๋วเครื่องบินเมื่อทราบว่าวีซ่าผ่านทั้งหมดแล้ว และเป็นการซื้อตั๋วแบบเปิด คือไม่ใช่ซื้อตั๋วไป-กลับ เพราะเมื่อพร้อมจะย้ายที่ค่อยซื้อตั๋วอีกทีเป็นขาเดียว เพื่อไปต่อสถานที่ถัดไป

ii. ที่พักแล้วแต่อารมณ์ บางครั้งนอนโรงแรม บางครั้ง hostel บางครั้ง homestay แล้วแต่ว่าอารมณ์ไหน และอะไรจะนำมาซึ่งประสบการณ์ที่แปลกไปจากเดิม

iii. กินอาหารก็แล้วแต่อารมณ์เช่นกัน

iv. สถานที่ที่จะเข้าชมหรือกิจกรรมที่ทำ ไม่คำนึงถึงงบประมาณ แต่คำนึงถึงความน่าสนใจเป็นหลัก

v. เลือกใช้บริการนำเที่ยวสำหรับบางเส้นทาง ในบางประเทศเพื่อความปลอดภัย

แบบนี้เหมาะกับคนที่มีความไม่แน่นอนในชีวิตเยอะ เช่นเผื่อคนทางบ้านไม่สบาย เน้นความพึงพอใจเป็นหลัก ไม่ต้องการการกดดันเรื่องถึงกำหนดวันที่ต้องไปต่อ ในขณะที่ยังไม่อยากไป  แน่นอนแบบนี้ใช้เงินมาก


c. แบบระหว่างกลาง ที่ปรับใช้แต่ละเรื่องไปตามต้องการของแต่ละคน

  ส่วนตัวแล้วเลือกแบบผสม แต่ค่อนไปทางต้องการความยืดหยุ่นสูง เอาละตอนนี้พอได้ไอเดียแล้วว่าเราจะเป็นสไตล์แบบไหน ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนงบประมาณต่อไป ไม่ต้องกังวลระหว่างวางแผนเรื่องถัดๆ ไป เราก็ปรับเปลี่ยนไป บางที่เราอาจจะประหยัดได้สุดๆ บางที่อาจจะไม่สามารถประหยัดได้สุดๆ ก็ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย และปัจจัยอื่นๆ ด้วย สุดท้ายที่สุด ต้องเอาแบบที่เราสบายใจ


2. วางแผนเส้นทาง

ก่อนอื่น แผนที่โลกเอามากางเลย (ฟังดูเชยเล็กน้อย) แต่มันทำให้เห็นได้ง่ายว่า จากบ้านเรามีประเทศใดบ้างในโลกใบนี้ ทำให้เรามองเห็นว่าใกล้ ไกล ขนาดไหน บวกกับถ้าวางเส้นทางต่อกันไปจะเป็นอย่างไร ทำให้เราได้รายการประเทศที่เราคาดว่าจะไป และวางเส้นทางไว้ อันนี้นับเป็นเวอร์ชั่นแรกของเส้นทาง

ปัจจัยที่นำมาประกอบการตัดสินใจว่าจะไปที่ประเทศอะไรตอนไหนนั้น มีดังต่อไปนี้

a. ประเทศใดบ้างที่เราอยากไปที่สุดก่อน ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศนั้นคร่าวๆ เพื่อให้ความสำคัญว่าต้องไปภายในปีนี้หรือไม่


b. หาข้อมูลประเทศใดบ้างที่คนไทยไม่ต้องใช้วีซ่า ซึ่งบอกเลยว่าไม่เยอะ (เรื่องวีซ่าในฐานะคนไทย ดูได้ใน       http://en.wikipedia.org/wiki/Visa_requirements_for_Thai_citizens


c. เมื่อได้ประเทศที่อยากไป กับรายการประเทศที่เราต้องขอวีซ่าแล้วนั้น ก็เริ่มหาข้อมูลการขอวีซ่า ว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง และปกติวีซ่า มีอายุอย่างไร อันนี้แนะนำว่าให้เข้าไปทำการบ้านจาก website ของแต่ละสถานฑูต เพื่อยืนยันในสิ่งที่เราเตรียม และโดยเฉพาะเรื่องอายุวีซ่าบางประเทศมีอายุนับจากวันออกวีซ่า บางประเทศมีอายุนับจากวันแรกของการเดินทาง อายุของวีซ่าก็แตกต่างกัน 30วัน 60วัน 90วัน เป็นต้น ระหว่างขั้นตอนที่สถานฑูตพิจารณาวีซ่า เราสามารถเอาพาสปอร์ตคืนระหว่างรอพิจารณาได้หรือไม่ ทั้งหมดนี้จะช่วยทำให้เราวางแผนว่าต้องไปขอวีซ่าประเทศใดก่อนหลัง ทำให้เราประหยัดเวลาในการขอวีซ่าประเทศต่างๆ ได้แบบใช้เวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และสามารถเดินทางรอบถัดไปได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยทำให้เรารู้ว่า เราจะเดินทางแบบไม่ต้องย้อนกลับมาบ้านในช่วงทั้งปีได้หรือไม่ ถ้าได้ประเทศอะไรที่เราต้องตัดออก แล้วจะใส่ประเทศใดเข้าไปแทนที่ หรือเราต้องเลือกว่าจะกลับบ้านซักครั้ง สองครั้ง ในช่วงระหว่างปี ถ้าจะให้ดีควรปรึกษาบริษัทที่ให้บริการขายตั๋วเครื่องบิน และรับบริการทำวีซ่า เพราะบริษัทเหล่านั้นจะช่วยเราได้เยอะ ในเรื่องการวางแผนการขอวีซ่า การออกตั๋วเพื่อให้การขอวีซ่าผ่านก่อนการออกตั๋วจริง อาจจะมีค่าใช้จ่ายบ้าง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการที่เราต้องทิ้งตั๋วเครื่องบินกรณีขอวีซ่าไม่ผ่านนั้น อาจจะคุ้มกว่า


d. คราวนี้เราก็มีเส้นทางที่เราวางไว้กับเรื่องวีซ่ามาประกอบกัน เราก็ได้เส้นทางที่จะไป พร้อมทางเลือก แบบแผน A แผน แผน อะไรประมาณนั้น


2. วางแผนงบประมาณ

ต่อไปเป็นการหาข้อมูลเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อกำหนดงบประมาณการเดินทาง อันประกอบไปด้วย ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเข้าชมสถานที่ และค่ากิจกรรมอื่นๆ ตามเส้นทางที่เราวางแผนไว้

a. ค่าเดินทาง

i. ค่าเครื่องบิน สามารถหาข้อมูลของค่าเครื่องบินแบบเที่ยวต่อเที่ยว ได้จากwww.skyscanner.com ส่วนค่าตั๋วแบบ round-the-world trip หาได้จาก หลายเว็บไซต์ เมื่อเรา Google ดูก็จะขึ้นมาเต็มเลย เช่น http://www.roundtheworldticket.com หรือถ้าใครเป็นสมาชิก Star Alliance ลองเช็ค www.staralliance.com/en/fares/round-the-world-fare/ ถ้าคิดว่าของ Star Alliance น่าสนใจและอาจจะใช้ air miles แลกได้บางส่วน ก็ลองไปปรึกษาที่เคาน์เตอร์ได้ เวลาหาค่าเครื่องบิน ควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องภาษีสนามบินด้วย ว่ารวมอยู่ในค่าเครื่องบินแล้วหรือยัง ถ้ายังค่าภาษีอีกเท่าไหร่

ii. นอกจากค่าเครื่องบิน ก็มีค่าเดินทางอื่นๆ เช่น รถไฟ รถเมล์ประจำทาง เรือแนะนำให้หาข้อมูลโดยประมาณตามหนังสือนำเที่ยวหรือ travel guides แล้ว คงต้องทำการตรวจสอบให้แน่ใจมากขึ้นโดยการหาข้อมูลจาก website ต่างๆ เพราะบางครั้งหนังสือที่เรามีอาจจะไม่ update หาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง เช่นเพื่อนที่เคยไป หรือที่อยู่ที่นั่น หรือเข้าไปใน webboard  ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อสอบถามเอาข้อมูลปัจจุบัน ก็จะช่วยเราได้ระดับหนึ่ง ถ้าคิดว่าจะเดินทางในยุโรปหลายประเทศ Eurail passhttp://www.eurail.com/eurail-passes ก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับรถไฟ ต่อรถเมล์ ต่อเรือ ได้เป็นอย่างดี


b. ค่าที่พัก อันนี้แนะนำให้หาข้อมูลหลายๆ แบบเปรียบเทียบกัน อย่าประมาทว่าเรานอนที่ไหนก็ได้ บางครั้งการนอน hostel รวมกับคนอื่นๆ นานๆ เข้าเราจะรู้สึกว่า วันนี้อยากอยู่เงียบๆ คนเดียว ขอสบายหนึ่งวัน ก็จะได้มีทางเลือก ส่วนตัวใช้ หลายๆ เว็บไซต์ประกอบค่ะ เช่น 

  • www.airbnb.com อันนี้ก็เป็นแบบเจ้าของแบ่งห้องให้เช่า แบบ break&breakfast ที่เจ้าของบ้านมาดูแล อันนี้เราได้ประโยชน์แบบว่าคนท้องถิ่นแนะนำสถานที่ให้เรา คอยดูแลเรา ราคาจะแพงกว่า hostel
  • www.hostelworld.comwww.hostelbookers.comwww.hihostel.com เหล่านี้ก็เพื่อหา hostel 
  • www.booking.com ก็มีทั้งแบบโรงแรม และ hostel ด้วย 
  • www.agoda.com  อันนี้สำหรับโรงแรม

ก็ใช้มันหมดเลยค่ะ แล้วแต่ว่าวันไหนอารมณ์ไหน


c. ค่าอาหาร อันนี้ศึกษาได้จากหนังสือแนะนำการเดินทางค่ะ ประมาณการค่าครองชีพ บางคนชอบแบบเที่ยวไปกินอาหารท้องถิ่นไป ก็อาจจะเผื่อค่าอาหารมากกว่าปกติหน่อย เราคือหนึ่งในนั้น ชอบกิน 555


d. ค่าเข้าชมสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ (ถ้ามีค่าใช้จ่ายค่าเข้าชม) และค่ากิจกรรมอื่นๆ เช่นค่าเดินป่า ปีนเขา ล่องแก่ง อันนี้ก็เช่นกันมีข้อมูลให้หาทั้งในเว็บไซต์ และหนังสือแนะนำการเดินทาง


e. ค่ธรรมเนียมวีซ่า on arrival เหล่านี้ข้อมูลหาได้จากอากู๋ หนังสือแนะนำการเดินทาง และเพื่อนๆ ที่ชอบมาแบ่งปันประสบการณ์ ถ้าจะให้ดีที่สุด หาข้อมูลที่ไหนแล้วก็ตาม แนะนำให้โทรถามสถานฑูตอีกทีเพื่อความถูกต้องแม่นยำ 

ข้อมูลค่าใช้จ่ายเหล่านี้ แนะนำให้บันทึกในส่วนของแผนงบประมาณ และควรเผื่องบประมาณส่วนเกินไว้ประมาณ 10-15% มากกว่าที่หนังสือหรือเว็บไซต์แนะนำ เพราะอัตราค่าบริการอาจจะไม่ตรงกับหนังสือหรือข้อมูลที่เราได้มา โดยส่วนใหญ่ของจริงจะแพงกว่า เพราะของแพงขึ้นทุกวันทุกที่ในโลก และระหว่างการเดินทางก็ควรบันทึกว่าใช้จ่ายจริงไปเท่าไหร่

เมื่อรู้ว่าแต่ละเส้นทางเราต้องใช้เงินเท่าไหร่โดยประมาณแล้ว ระหว่างนี้ก็สามารถสลับสับเปลี่ยนเรื่องสถานที่ได้อีก ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งใจว่าเราจะใช้จ่ายเท่าไหร่ สำหรับการเดินทางครั้งนี้ แล้วเราจะได้เส้นทางที่ลงตัวระหว่างที่ที่เราอยากไป การขอวีซ่า และงบประมาณค่าใช้จ่าย

ขอให้สนุกกับการวางแผนนะคะ ส่วนเรื่องการเตรียมตัวก่อนเดินทางจะมาเล่าอีกครั้งค่ะ #thaitraveltheworld